เสาแห่งความอัปยศ" ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงมานาน 24 ปี ก่อนที่จะถูกรื้อออกไปเมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค. 2564


เสาแห่งความอัปยศ" ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงมานาน 24 ปี ก่อนที่จะถูกรื้อออกไปเมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค. 2564

"เสาแห่งความอัปยศ" ผลงานประติมากรรมซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงมานานกว่า 24 ปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ถูกรื้อถอนลงแล้วช่วงกลางดึกที่ผ่านมา

งานประติมากรรมชิ้นนี้สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวเดนมาร์ก เป็นรูปหล่อทองแดงที่สื่อถึงร่างที่กองทับถมกันของผู้เสียชีวิตในเหตุปราบปรามการประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินในจีนเมื่อปี 1989

"เสาแห่งความอัปยศ" เป็นหนึ่งในงานศิลปะเพียงไม่กี่ชิ้นที่เหลืออยู่ในฮ่องกงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งในประเทศจีน การรื้อถอนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนเพิ่มความพยายามที่จะปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองในฮ่องกง

มหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งมีคำสั่งให้รื้อถอนประติกรรมชิ้นนี้ตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์วันนี้ (23 ธ.ค.) ว่า "การตัดสินใจรื้อถอนรูปหล่อชิ้นนี้อยู่บนพื้นฐานคำแนะนำด้านกฎหมายและการประเมินความเสี่ยงเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางมหาวิทยาลัย"

"มหาวิทยาลัยมีความห่วงใยเป็นอย่างมากในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากรูปหล่อมีความเปราะบาง"

ช่วงดึกเมื่อคืนนี้ (22 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้นำรั้วและแผ่นพลาสติกมากั้นพื้นที่ พร้อมกับแจ้งว่ากำลังรื้องานศิลปะดังกล่าวออก

คนงานทำงานกันตลอดคืนเพื่อรื้อถอนรูปหล่อทองแดง "เสาแห่งความอัปยศ" ซึ่งมีความสูงถึง 8 เมตร ในขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในบริเวณดังกล่าวเพื่อสังเกตการณ์หรือบันทึกภาพ

เกรซ ฉ่อย ผู้สื่อข่าวบีบีซีในฮ่องกง รายงานว่ามีเสียงเจาะและเสียงวัสดุแตกดังออกมาจากบริเวณที่ตั้งของประติมากรรม แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ทางมหาวิทยาลัยระบุว่าจะนำงานศิลปะรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งตั้งอยู่ที่นี่มานานกว่า 24 ปี ไปเก็บไว้ในคลังเก็บของ

Construction workers remove the statue
ที่มาของภาพ,REUTERS
คำบรรยายภาพ,
การรื้อถอนและเคลื่อนย้ายประติมากรรม "เสาแห่งความอัปยศ" เกิดขึ้นขณะที่ทางการจีนพยายามปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมืองในฮ่องกง

นายเยนส์ กัลชูต ศิลปินชาวเดนมาร์ก เจ้าของประติมากรรมชิ้นนี้บอกว่า การรื้อถอนงานศิลปะของเขา "ช่างเป็นเรื่องที่โหดร้าย"

"ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นงานศิลปะเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต และเพื่อรำลึกถึงผู้ที่จากไปในเหตุการณ์ในปักกิ่งเมื่อปี 1989 การที่คุณรื้อทำลายมัน ก็ไม่ต่างจากการที่คุณไปที่สุสานแล้วทำลายป้ายหน้าหลุมศพของพวกเขา"

ศิลปินชาวเดนมาร์คผู้นี้ยังบอกด้วยว่า เขากำลังพิจารณาฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องเงินชดเชยจากการรื้อถอนงานศิลปะของเขา

ผู้เสียชีวิตที่ถูกกองกำลังจีนสังหารในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989 มีจำนวนหลายร้อยหรืออาจจะถึงหลายพันคน เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหวอย่างยิ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ จนทางการจีนสั่งห้ามการนำเสนอเนื้อหาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แม้จะมีการเรียกอย่างอ้อม ๆ ว่า "เหตุการณ์วันที่ 4 มิ.ย." ก็ตาม

ภาพปฏิบัติการรื้อถอนและเคลื่อนย้าย "เสาแห่งความอัปยศ"

ฮ่องกงถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ที่อนุญาตให้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในที่สาธารณะ แม้ในปี 2020 ฮ่องกงจะสั่งห้ามจัดงานนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยอ้างความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักกิจกรรมกล่าวหาว่าทางการฮ่องกงยอมก้มหัวให้กับแรงกดดันจากปักกิ่งที่พยายามจะปิดปากการแสดงออกของผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจำนวน 9 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษจำคุก 6-10 เดือน จากการรวมตัวจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยไม่ได้รับอนุญาตในฮ่องกงเมื่อปี 2020 และช่วงต้นเดือน ธ.ค. จิมมี ไล มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี ก็ถูกตัดสินจำคุก 13 เดือน จากกรณีเข้าร่วมพิธีดังกล่าวเช่นกัน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

เรื่องเล่าจากหอยดึกดำบรรพ์และหอยโบราณในประเทศไทย

ทุบสถิติทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้นานที่สุดในโลก 27 ปี