เมื่อครั้นไดโนเสาร์ อยากย้ายทวีป


[ เมื่อครั้นไดโนเสาร์ อยากย้ายทวีป ]

สะพานธรรมชาติแบริงเจีย (Beringia bridge) เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย และ ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งวางตัวอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ ใกล้กับทะเลแบริง ขอบเขตของแบริงเจียจะเริ่มต้นที่แม่น้ำ Lena ของรัสเซียไปจนถึงแม่น้ำ Mackenzie ของแคนาดา 

หลักฐานทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์บรรพกาลจากทั้งสองทวีปที่สะพานแบริงเจียเชื่อมต่อนั้น มีความเหมือนกันและสามารถใช้เชื่อมสัมพันธ์ทางธรณีวิทยาได้ จึงสนับสนุนการมีอยู่ของสะพานนี้ในอดีตที่ผ่านมา

สะพานธรรมชาตินี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของโลก ได้แก่ ในยุคครีเทเชียส (80 ล้านปีก่อน) สมัยอีโอซีน (50 ล้านปีก่อน) สมัยไมโอซีน (20 ล้านปีก่อน) และ ไพลสโตซีน (21,000 ปีก่อน) จึงทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์จากทั้งสองทวีป ได้มีโอกาสอพยพหรือแพร่พันธุ์ไปมาระหว่างทวีปได้ 

ในยุคครีเทเชียส จะสามารถพบไดโนเสาร์ที่คล้ายคลึงกันของทั้งเอเชีย-อเมริกาเหนือ เช่น ฮาโดรซอร์ (Hadrosaur) ซอโรโลฟัส-เอ็ดมอนโตซอรัส, เซราทอปเซียน (Ceratopsian) ซิโนเซราทอปส์-เซนโตรซอรัส, ไทแรนโนซอร์ (Tyrannosauridae) ทาร์โบซอรัส-ไทแรนโนซอรัส, เทอริซิโนซอร์ (Therizinosauridae) เทอริซิโนซอรัส-นอโธรไนคัส และซอโรพอด (Sauropod) โอพิสโทซีลิคอเดีย-อลาโมซอรัส ฯลฯ ตามลำดับ

ในสมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ก็เช่นกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็เคยใช้สะพานแบริงเจียนี้ในการอพยพเข้าสู่แผ่นดินใหม่ เช่น ช้างแมมมอธ สุนัขป่า ไพรเมต หรือแม้แต่มนุษย์ ที่อพยพจากเอเชียเข้ามายังอเมริกาเหนือได้ 

ในปัจจุบันแม้ว่าสะพานนี้จะหายไปแล้วหลังจากที่น้ำแข็งได้ละลายลงในช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และพื้นที่นี้ยังได้ถูกอนุรักษ์ไว้เพราะสิ่งที่หลงเหลือคือแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม ในอดีตที่ทรงคุณค่าจวบจนปัจจุบัน

ปล. จะว่าไปแล้ว จะย้ายประเทศ เอ๊ย! ทวีปในสมัยนั้นเนี่ย ดูง่ายจังนะครับ แค่เดินข้ามไปเอง ไม่ต้องใช้เงินเลย แฮร่!

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

เรื่องเล่าจากหอยดึกดำบรรพ์และหอยโบราณในประเทศไทย

ทุบสถิติทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้นานที่สุดในโลก 27 ปี