นี่คือ ฟอสซิลแมงมุมดึกดำบรรพ์ ขนาดใหญ่ที่สุด-ที่มนุษย์เคยค้นพบ อายุ 165 ล้านปี
ฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่เป็นแมลงหรือแมงนั้น จัดว่าเป็นฟอสซิลที่ค่อนข้างพบได้ยาก เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเปราะบาง ซากของพวกมันมักย่อยสลายก่อนที่จะเกิดเป็นฟอสซิลเสียอีก ดังนั้น การค้นพบฟอสซิลของแมงมุมจึงสร้างความตื่นเต้นให้กับนักบรรพชีวินเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
ฟอสซิลแมงมุม M. jurassica
ฟอสซิลแมงมุมนี้ถูกค้นพบใต้ชั้นหินลาวา ในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ประเทศจีน การประมาณขนาดจากฟอสซิลพบว่า พวกมันมีขนาดลำตัวกว้าง 2.5 เซนติเมตร และมีขายาวที่สุดถึง 6.3 เซนติเมตร และโชคดียิ่งกว่านั้นคือมีการขุดพบทั้งฟอสซิลของแมงมุมตัวเมียและตัวผู้ด้วย (คาดว่าความยาวเวลาชักใย แต่ละเส้นอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตรเลยทีเดียว)
ความสมบูรณ์ของฟอสซิลเหล่านี้สร้างความประหลาดใจให้กับนักบรรพชีวินเป็นอย่างมาก แม้จะมีขาบางส่วนที่ขาดหายไป แต่อวัยวะที่ใช้ในการสร้างใยบริเวณขาของมันยังปรากฏให้เห็นอยู่ ทำให้ในช่วงแรกเชื่อว่าพวกมันมีความใกล้ชิดกับแมงมุมใยทองท้องขนาน (Golden orb-weavers) ในปัจจุบัน และอาจจัดให้อยู่ในวงศ์ Nephila เหมือนกันได้
M. jurassica ตัวผู้ (ซ้าย) และตัวเมีย (ขวา)
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ พอล เซลเดน และคณะนักบรรพชีวินจากมหาวิทยาลัยแคนซัส กล่าวว่า ฟอสซิลแมงมุมนี้เผยให้เห็นลักษณะที่แตกต่างวงศ์ Nephila ของแมงมุมใยทองท้องขนาน แถมยังมีอายุย้อนกลับไปนานถึง 165 ล้านปีก่อนเลยทีเดียว ทั้งที่แมงมุมในวงศ์ Nephila ที่เคยขุดค้นพบก่อนหน้านี้มีอายุย้อนกลับไปในช่วง 34 ล้านปีก่อนเท่านั้น
ดังนั้น เซลเดนและคณะจึงลงความให้ว่า ควรให้จัดให้ฟอสซิลแมงมุมอยู่ในวงศ์ใหม่ Mongolarachne, ตระกูลใหม่ Mongolarachnidae และใช้ชื่อสปีชีส์ว่า M. jurassica เพื่อให้มันกลายเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างสมบูรณ์ในยุคจูแรสสิกนั่นเอง
นอกจากนี้ ด้วยความที่มันมีความคล้ายคลึงกับแมงมุมใยทองท้องขนาน เซลเดนเชื่อว่าแมงมุม M. jurassic นี้ควรจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตร้อนชื้นของเส้นศูนย์สูตร ทว่า พื้นที่ที่ขุดพบฟอสซิลกลับมีสภาพอากาศแบบอบอุ่น หลักฐานนี้จึงสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าแผ่นโลกมีการเคลื่อนตัวออกจากกัน ทำให้พื้นที่เดิมของมองโกเลียในที่ควรจะอยู่ในแถบศูนย์สูตรถูกเคลื่อนมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน
แมงมุมใยทองท้องขนาน
ฟอสซิลของ M. jurassica จัดว่าเป็นฟอซิลแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดค้นพบมา แม้ขนาดของพวกมันจะไม่ได้ใหญ่โตเท่ากับแมงมุมทารันทูลาบราซิล (ที่มีขนาดลำตัวยาวถึง 9 เซนติเมตร) แต่มันก็ช่วยปะติดปะต่อเส้นทางวิวัฒนาการของแมงมุมยุคใหม่ให้เราได้
ปัจจุบันหลังการขุดค้นพบฟอสซิลแมงมุม M. jurassica พื้นที่มองโกเลียในต่างคับคั่งไปด้วยนักบรรพชีวินที่ต้องการค้นหาฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ ทำให้อัตราการค้นพบฟอสซิลในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์มากกว่า 10 สปีชีส์ที่ค้นพบในพื้นที่แห่งนี้