บันทึกโควิด-19 ผ่านคำบอกเล่าของ อสม. ชายแดนไทย-เมียนมา

สำนักข่าวแทบทุกแห่งในโลกคงยกให้การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นข่าวใหญ่อันดับหนึ่งประจำปี 2563 ทั้งจากจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ติดเชื้อ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิถีชีวิตของผู้คนมหาศาล
บีบีซีไทยเลือกที่จะบันทึกเหตุการณ์ใหญ่ประจำปี 2563 นี้ ผ่านสายตา คำบอกเล่าและภารกิจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสร้ายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้

กลางเดือน ธ.ค. เราเดินทางไป อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อพบกับ อสม. หญิงวัย 57 ปี ที่ปฏิบัติภารกิจเป็น อสม. ในพื้นที่ชายแดนที่เต็มไปด้วยแรงงานเมียนมาและคนไทยที่พากันข้ามพรมแดนไปมาเพื่อทำงานและค้าขาย ทำให้พื้นที่นี้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 อย่างยิ่ง
ปี 2563 จินดา ประหุปะเม เริ่มต้นปีด้วยภารกิจใหม่ที่แสนจะท้าทาย อสม. อย่างเธอ นั่นคือการรับมือกับโควิด หลังจากทำงานหนักมานานหลายเดือน ความหวังที่จะส่งท้ายปีอย่างสบายใจหายวับไปพร้อมกับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงไม่ถึงสองสัปดาห์สุดท้ายของปี ซึ่งเป็นการระบาดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเมียนมาและพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาโดยตรง

นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1 ราย เมื่อวันที่ 13 ม.ค. จนถึงวันที่ 29 ธ.ค. ไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมจำนวน 6,440 ราย
นักรบเสื้อเทา
จินดามักจะใช้บ้านของเธอเป็นจุดรวมตัวของทีม อสม. ซึ่งทุกครั้งที่ออกปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีเทาซึ่งเป็นที่มาของฉายา "นักรบเสื้อเทา" ที่ทำงานเป็นด่านหน้าในสมรภูมิโควิด-19

นักรบเสื้อเทาอาจเป็นคนแรก ๆ ที่พบผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงหรือผู้ต้องสงสัยติดโควิด ก่อนบรรดาหมอและพยาบาลเสียอีก

อสม. ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ไม่ว่าโทรศัพท์จะดังขึ้นเวลาไหน เขาและเธอก็ต้องออกไปค้นหาบุคคลเป้าหมาย เก็บข้อมูลรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์โดยเร็วที่สุด

หลังเกิดการระบาดระลอก 2 ที่ประเทศเพื่อนบ้าน โทรศัพท์ตามตัว อสม. ยิ่งดังขึ้นบ่อยกว่าเดิม และ อสม. ในพื้นที่ อ.แม่สอดก็ทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

หลายครั้งที่ อสต. โทรศัพท์มาปลุกจินดาตอนกลางดึกเพื่อแจ้งว่ามีชาวเมียนมาที่เป็นคนนอกลักลอบเข้ามาในชุมชน เธอและหน่วยนักรบเสื้อเทาจะเดินทางไปยังจุดที่ได้รับแจ้งโดยเร็ว ก่อนจะทำการวัดไข้ สอบถามข้อมูลและสอบสวนโรคโดยมี อสต. เป็นล่ามให้

"การปฏิบัติงานในพื้นที่นี้มีความท้าทายมาก...ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารก็ยิ่งทำให้งานยากขึ้นไปอีก ถ้าไม่มี อสต. ก็แย่เหมือนกัน" จินดากล่าว

"การที่มีคนที่ยังข้ามไปมาแบบผิดกฎหมายอยู่มันทำให้งานของเรายากมาก อย่างเคสที่เราเคยเจอ ข้ามแดนเข้ามาแล้วก็กระจายตัวไปหลายที่ ถ้าเข้ามาแล้วมีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งก็ไม่น่ามีปัญหา แต่พวกเขาไม่มีบ้านอยู่ที่แน่นอนและตระเวนไปทั่วชุมชน"

ยิ่งไปกว่าอุปสรรคด้านภาษาและพฤติกรรมการลักลอบข้ามแดนคือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เหล่า อสม. ต้องเจอ

"คิดว่างานที่ทำมีความเสี่ยงมาก เราไม่รู้ว่าเราจะไปสัมผัสกับโรคเมื่อไหร่ แต่ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ เขาแจ้งมาเราก็ต้องไป" เธอบอก
โควิด-19: ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
13 ม.ค. สธ. ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในไทยและรายแรกที่พบนอกประเทศจีน เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นถึงไทยวันที่ 3 ม.ค.

29 ก.พ. สธ.ออกประกาศให้ "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" หรือ "โรคโควิด 19" เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย 

1 มี.ค. สธ. แถลงผู้ป่วยโควิด-19 คนไทย เสียชีวิตเป็นรายแรก เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ที่มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน

11 มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ pandemic

26 มี.ค. รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. จากนั้นได้มีการต่ออายุทุกเดือนทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งล่าสุด ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564

3 เม.ย. รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในเวลา 22.00-04.00 น. .เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ได้ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวในวันที่ 15 มิ.ย.

มิ.ย.-ก.ค. รัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะ ๆ

27 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564

28 พ.ย. กรมควบคุมโรคแถลงยืนยันพบหญิงไทยวัย 29 ปี ใน จ.เชียงใหม่ ติดโควิด-19 ผู้ป่วยรายนี้ทำงานเป็นพนักงานที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.ท่าขี้เหล็ก เป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อ "กลุ่มท่าขี้เหล็ก" ซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 40 ราย
20 ธ.ค. สธ. ประกาศการระบาดระลอกใหม่ในไทย หลังจากมีการแพร่ระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง ต. มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มิจฉาชีพชายที่สวมรอยเป็นหมอในโรงพยาบาลจนกลายเป็นดาว TikTok

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

ภัยพิบัติแห่งสนามบิน Tenerife สายการบิน: KLM Royal Dutch Airlines และ Pan American World Airways