เทือกเขาคองแนวเขาที่ปรากฏอยู่ในแผนที่แอฟริกานานเกือบ 1 ศตวรรษ แต่ไม่มีอยู่จริง

ทือกเขาคองปรากฏอยู่ในแผนที่แอฟริกาตะวันตกเกือบทุกฉบับตลอดช่วงศตวรรษที่ 19

ยอดเขาสูงหลายแห่งของเทือกเขาคองสูงเสียดฟ้า และหลายคนเล่าว่า ยอดเขาเหล่านี้มีหิมะปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี

เทือกเขาอันโดดเด่นนี้ปรากฏอยู่บนแผนที่แอฟริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เกือบทุกฉบับ เหมือนกับอุปสรรคที่ไม่มีใครข้ามไปได้ มันขวางกั้นและเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำหลายสาย

แต่เทือกเขาซึ่งอยู่ในจินตนาการของนักเดินทางจากโลกตะวันตกมานานหลายสิบปีนี้ ไม่เคยปรากฏว่ามีอยู่จริง

"ผี" ของการทำแผนที่
ไซมอน การ์ฟีลด์ นักข่าวและผู้เขียนหนังสือเรื่อง On the Map ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแผนที่และมุมมองต่อโลกของผู้คนในสังคมต่าง ๆ กล่าวว่าเทือกเขาในตำนานแห่งนี้คือ "ผี" ในประวัติศาสตร์ของการทำแผนที่

เทือกเขาคองได้รับการพูดถึงเป็นครั้งแรกในโลกตะวันตกโดยมุงโก พาร์ก นักสำรวจชาวสก็อตซึ่งเดินทางเข้าไปในเซเนกัลและมาลีระหว่างปี 1795-1797 เพื่อสำรวจหาแหล่งกำเนิดของแม่น้ำไนเจอร์
มุงโก พาร์ก นักสำรวจชาวสก็อต บรรยายถึงเทือกเขาคองในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 18

เรื่องราวการเดินทางของเขาได้รับการตีพิมพ์ในกรุงลอนดอนในปี 1799 โดยมี เจมส์ เรนเนลล์ นักวาดแผนที่ชาวอังกฤษ วาดภาพประกอบใส่ไว้ในภาคผนวก

ภาพนี้เผยให้เห็นเทือกเขาคองทอดตัวข้ามแอฟริกาตะวันตกไปตามเส้นขนานที่ 10 (ละติจูด 10 องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร)

เทือกเขานี้ได้รับการตั้งชื่อตามเมืองคอง เมืองหลวงของอาณาจักรคอง หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า วาตทารา (Wattara หรือ สะกดอีกแบบคือ Ouattara) มีศูนย์กลางอยู่ในไอวอรีโคสต์ และพื้นที่โดยรอบบูร์กินาฟาโซในปัจจุบัน

ภาพลวงตา หรือ แต่งเรื่องขึ้น
เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปว่า พาร์กเชื่อว่าเขาเห็นเทือกเขานั้นจริง ๆ หรือว่า เขาแต่งเรื่องขึ้น

โทมัส บาสเส็ตต์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์แอฟริกาตะวันตก กล่าวว่า "เขาอาจจะเห็นภาพลวงตา หรือบางทีอาจจะเป็นกลุ่มเมฆที่ดูเหมือนเทือกเขา"

"จากนั้นเขาได้ถามนักเดินทางและพ่อค้าว่า มีแนวเทือกเขาอยู่ในทิศทางนั้นหรือไม่ แล้วพวกเขาก็ตอบว่า มี"

ศ.บาสเส็ตต์บอกกับบีบีซีว่า แต่เรื่องนี้มีอะไรมากกว่าเพียงแค่ความสับสน
ภาพสลักสะพานทอดข้ามแม่น้ำไนเจอร์
"การค้นพบ" เทือกเขาคอง ทำให้เกิดการอภิปรายกันถึงต้นกำเนิดของแม่น้ำไนเจอร์

ทฤษฎีเกี่ยวกับเทือกเขาคอง "ต้องมีการศึกษาให้เข้าใจในบริบทที่กว้างเกี่ยวกับการถกเถียงกันทางทฤษฎีเรื่องเส้นทางการไหลของแม่น้ำไนเจอร์" ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องราวลี้ลับที่สุดสำหรับนักภูมิศาสตร์ที่ศึกษาแอฟริกาตะวันตกในขณะนั้น

เขาเชื่อว่า การเกิดขึ้นมาของเทือกเขาคอง "น่าจะมาจากเจมส์ เรนเนลล์ มีทฤษฎีที่ขัดแย้งกันหลายทฤษฎีและการวาดแผนที่เทือกเขาคองของเรนเนลล์ก็เกี่ยวข้องกับข้อสันนิษฐานของเขาเอง"

"เอลโดราโดของแอฟริกาตะวันตก"
เรนเนลล์ หนึ่งในนักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคสมัยของเขาเชื่อว่า แม่น้ำไนเจอร์ไหลไปทางทิศตะวันออกจากมหาสมุทรแอตแลนติกลงสู่ทวีปแอฟริกา จากนั้นก็ระเหยกลายเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในแผ่นดิน

การมีอยู่ของเทือกเขาคองสอดคล้องกับแนวคิดของเขาว่า อุปสรรค "อันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครอาจเอาชนะได้" นี้ทำให้แม่น้ำไนเจอร์ไม่สามารถไหลไปทางทิศใต้เพื่อไปลงอ่าวเบนินได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้ไหลไปที่นั่น
เจมส์ เรนเนลล์
แนวคิดของเจมส์ เรนเนลล์ เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของแอฟริกาตะวันตก สอดคล้องกับการมีอยู่ของแนวเทือกเขาคอง

ภาพวาดประกอบของเรนเนลล์มีอิทธิพลอย่างมาก เทือกเขาคองปรากฏอยู่บนแผนที่แอฟริกาเกือบทุกฉบับตลอดศตวรรษที่ 19 โดยมีรูปร่างและการทอดตัวที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจินตนาการของนักวาดแผนที่แต่ละคน

ในแผนที่บางฉบับ เทือกเขานี้ทอดข้ามทวีปแอฟริกาทั้งทวีปจากตะวันตกสู่ตะวันออก เหมือนเป็นกำแพงกั้นระหว่างทะเลทรายซาฮาราและแอฟริกากลาง

มีการพรรณนาถึงเทือกเขานี้อีกหลายอย่างทั้งการมีสีออกสีน้ำเงิน และ "สูงเสียดฟ้าน่าเกรงขาม" บริเวณไหล่เขาที่ลาดชันมีความแห้งแล้งมาก แต่อุดมไปด้วยทองคำ

ชาวยุโรปบางส่วนเชื่อว่าเทือกเขานี้เป็นเหมือน "เอลโดราโดของแอฟริกาตะวันตก" แหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่โลหะมีค่าของอาณาจักรอาชานติ หรือกานาในปัจจุบัน
แผนที่แอฟริกาตะวันตกจากปี 1818
ในแผนที่หลายฉบับ เทือกเขาคองทอดตัวยาวเป็นเหมือนกำแพงกั้นระหว่างทะเลทรายซาฮาราและส่วนที่เหลือของแอฟริกา

จากนั้นในปี 1889 หลุยส์-กุสตาฟ บิงเกอร์ เจ้าหน้าที่และนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้รายงานการเดินทางไปตามแนวแม่น้ำไนเจอร์ของเขา เขารายงานข่าวให้กับสมาคมภูมิศาสตร์ปารีส (Paris Geographical Society) ว่า เทือกเขาคองไม่มีอยู่จริง

จากนั้นเทือกเขานี้ก็หายไปในทันที มหัศจรรย์ไม่ต่างไปจากตอนที่มันถูกทำให้ปรากฏขึ้นมา

"สังคมสร้างขึ้นมา"
แต่ที่มากกว่าไปเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ศ.บาสเส็ตต์เล่าว่า เทือกเขาคองในตำนานเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่แผนที่ซึ่งเราเชื่อว่ามีความเป็นภววิสัย ก็ยังถูกสร้างขึ้นมาจากอคติส่วนตัวและมุมมองที่มีต่อโลกของแต่ละคนได้

ตามที่เขาเขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่งร่วมกับ ฟิลิป ดับเบิลยู พอร์เตอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณที่วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมินเนโซตาว่า "เหนือสิ่งอื่นใด แผนที่คือการสร้างขึ้นมาของสังคมจากคนที่มีบริบททางประวัติศาสตร์ของตัวเองโดยเฉพาะ"
ภาพสลักเกี่ยวกับการเดินทางสำรวจของหลุยส์-กุสตาฟ บิงเกอร์
การเดินทางสำรวจที่นำโดยหลุยส์-กุสตาฟ บิงเกอร์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ทำให้ตำนานเกี่ยวกับเทือกเขาคองสิ้นสุดลง

ช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 เขากล่าวว่า แผนที่แสดง "ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในจินตนาการและมีความอัศจรรย์พันลึกทุกประเภท" ยกตัวอย่างในสมัยศตวรรษที่ 16 นักวาดแผนที่นามว่า ออร์ทีเลียสบรรยายว่าต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์มาจากทะเลสาบ 2 แห่งในแอฟริกาใต้

ศ.บาสเส็ตต์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีเทือกเขาคองมีความพิเศษตรงที่มันปรากฏอยู่ในแผนที่ต่าง ๆ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว

ชื่อเสียงของเรนเนลล์และสายสัมพันธ์ที่มีกับสำนักพิมพ์ในยุโรปหลายแห่ง ทำให้เรื่องเล่าขานนี้ถูกเผยแพร่ต่อกันไปโดยไม่มีใครโต้แย้ง

แต่การปฏิเสธว่าเทือกเขาคองไม่มีอยู่จริงอย่างเป็นทางการของบิงเกอร์ ก็มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงอยู่ การไม่มีอยู่ของเทือกเขานี้เป็นการสนับสนุนนโยบายแผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปในแอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส

แรงปรารถนาอาณานิคม
ในช่วงศตวรรษที่ 19 สำหรับรัฐบาลยุโรปหลายประเทศแล้ว แผนที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องที่นำมาซึ่งการถกเถียงกันทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงแรงปรารถนาในการล่าอาณานิคมไว้ด้วย
หนึ่งในภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19 เป็นภาพที่ นายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ ของอังกฤษ และจักรพรรดินโปเลียน ตัดแบ่งโลกบนโต๊ะอาหาร ภาพนี้วาดโดย เจมส์ กิลล์เรย์ ปี 1805

"แผนที่ทางการเมืองในศตวรรษที่ 19 ถูกนำมาใช้เสริมภูมิศาสตร์ทางกายภาพ เรื่องนี้อธิบายได้จากความแตกต่างระหว่างแผนที่ของโปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษ แผนที่ไม่ใช่เพียงแค่อธิบายถึงดินแดนต่าง ๆ เท่านั้น แต่ประเทศเหล่านี้กำลังอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่าง ๆ" ศ.บาสเส็ตต์กล่าว

"แผนที่เหล่านี้ยังนำมาซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับโลกด้วย"

ศ.บาสเส็ตต์กล่าวว่า บทเรียนที่ได้มาจากกรณีเทือกเขาคองคือ "เราต้องเป็นนักอ่านแผนที่ที่รู้จักคิดวิเคราะห์"
"เราต้องถามตัวเองด้วยคำถามต่าง ๆ ว่าแผนที่เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาในบริบทใด และทำไมพวกมันจึงถูกออกแบบมาเช่นนั้น หาไม่แล้ว คุณก็จะไม่มีทางเข้าใจแผนที่"

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มิจฉาชีพชายที่สวมรอยเป็นหมอในโรงพยาบาลจนกลายเป็นดาว TikTok

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

ภัยพิบัติแห่งสนามบิน Tenerife สายการบิน: KLM Royal Dutch Airlines และ Pan American World Airways