นักวิจัยตัดสินใจตอก ฟอสซิลไข่อายุ 66 ล้านปี จนพบเป็นของสัตว์ใต้ทะเลขนาดยักษ์


เข้าเรื่องเลยนะครับ : เมื่อปี 2011 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสได้ค้นพบ “ฟอสซิลไข่ใบยักษ์” 
(อันดับ 2 ของโลก) ขนาดความยาว 28 สูง 18 เซนติเมตร บนเกาะเซย์มัวร์ บริเวณตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา 

โดยไข่ใบนี้ถูกตั้งฉายาว่า “เดอะ ธิง” (The Thing – ความลึกลับ) เพราะนักวิจัยไม่สามารถทราบได้จริง ๆ ว่า คือไข่ของสัตว์ชนิดใด ? จึงทำให้มันเต็มไปด้วยปริศนา จนถูกตั้งฉายาสุดเท่ดังกล่าวนั่นเอง

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2020 หลังจากมุ่งมั่นวิจัยมานานกว่า 9 ปี นักวิจัยกลุ่มเดิมจึงตัดสินใจกะเทาะชิ้นส่วนของไข่ใบนี้ออกมาเล็กน้อย จนพบว่ามันอาจเป็นไข่ของสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในทะเล ชื่อว่า “โมซาซอร์” นั่นก็เพราะ ไข่ถูกพบ ณ พื้นที่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อน และอายุของมันก็ตรงกับช่วงเวลาที่สัตว์ชนิดดังกล่าวเคยอาศัยอยู่ด้วย นั่นคือ ช่วงปลายยุคครีเทเชียส 65-89 ล้านปีก่อน

นอกจากนี้นักวิจัยยังทำการคำนวนเพื่อหาความเป็นไปได้ว่า สัตว์ต้องมีขนาดใหญ่เท่าใดจึงสามารถมีไข่ขนาดใหญ่แบบนี้ออกมาได้ และการคำนวนก็ตรงกับเจ้าโมซาซอร์นั่นเอง

แล้วไหนล่ะความลึกลับ ? : ก่อนหน้านี้นักวิจัยเชื่อว่า โมซาซอร์เป็นสัตว์เลื้อนคลานที่มีความพิเศษคือไม่ต้องขึ้นบกเพื่อวางไข่ แต่เมื่อได้พบเดอะธิงหลาย ๆ คำถามก็ไม่สามารถตอบได้ด้วยความรู้เดิม เช่น แล้วทำไมจึงพบไข่ใบนี้เพียงฟองเดียวในพื้นที่แห่งนั้น ?

แล้วทำไมมันถึงมีสภาพที่สมบูรณ์เช่นนี้ ปกติฟอสซิลไข่สภาพดีจะต้องมีตัวอ่อนที่ยังไม่ฟักอาศัยอยู่ภายในด้วย แต่นี่กลับพบเพียงแร่ธาตุที่อัดแน่นอยู่เท่านั้น ? หรืออาจเป็นไปได้ว่า มันอาจไม่ใช่ไข่ของโมซาซอร์ แต่อาจเป็นไข่ของงูยักษ์ใต้ทะเลที่เรายังไม่เคยพบมาก่อน ?

จากคำถามทั้งหมด จึงทำให้ทุกภาพที่อยู่ในบทความ เป็นเพียงการเลือกมานำเสนอเพื่อให้สมมุติฐานชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพราะยังไม่มีสรุปยืนยันว่าไข่ใบนี้เป็นของโมซาซอร์แท้จริง … แต่หากใช่ The Thing ก็จะได้รับตำแหน่งสุดพิเศษทันที นั่นคือ เป็นไข่ของสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครับผม

สำหรับ “โมซาซอร์” (Mosasaur) คือสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ที่วิวัฒนาการมาจาก กลุ่มกิ้งก่าคล้ายงู (Squamata) อาศัยกระจายอยู่ทั่วโลก พบฟอสซิลครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 1764 แม้จะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 9-30 เมตร บางตัวหนักกว่า 15 ตัน แต่พวกมันก็สามารถว่ายน้ำความเร็วสูงสุดได้ที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ความร้ายกาจทางกายภาพนี้ทำให้มันได้รับฉายาว่า “T-Rex แห่งท้องทะเล”)

และแม้จะมีรูปร่างคล้ายจระเข้ แต่สายพันธุ์ใกล้ชิดของพวกมันปัจจุบันจริง ๆ คือกิ้งก่า (lizard) โดยนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า โมซาซอร์น่าจะเป็นบรรพบุรุของมังกรโคโมโดด้วย เพราะสัตว์ชนิดนี้คือ กิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
👉– ฟอสซิลไข่ที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก คือฟอสซิลไข่ของ นกช้างยักษ์ (Great Elephant Bird) สูญพันธุ์ไปเมื่อ 400 ปีก่อน มีลักษณะคล้ายกับนกกระจอกเทศ เมื่อโตเต็มวัยสูงได้ถึง 3.4 เมตร // ไข่มีขนาดสูง 30 กว้าง 21 เซนติเมตร (ใหญ่กว่าไข่ไก่ทั่วไปกว่า 120 เท่า) ฟอสซิลไข่ใบนี้ถูกพบเมื่อปี 2000 ณ ถิ่นที่อยู่ของมัน เกาะมาดากัสการ์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาพถ่ายปริศนางูไททันโอโบอา

"นายลี กวน ยู"- ประกาศชัดในพินัยกรรมให้ “รื้อบ้าน”มรดกตกทอดที่เขาได้รับมาจากพ่อ-แม่มาอยู่อาศัย โดยให้รื้อทิ้งไปเลยหลังจากเขาตายเพื่อไม่ให้บ้านหลังนั้น”ขัดขวางความเจริญ” ของประเทศสิงคโปร์

ปริศนาลึกลับ ของ กลไกการล่องหน ไปในความมืดของปลาประเภท SUPERBLACK ในท้องทะเลลึก ที่ ยังหาคำตอบไม่ได้