โลกเข้าใกล้ภาวะเรือนกระจกสุดร้อนแรงเหมือนเมื่อ 50 ล้านปีก่อน
โลกเข้าใกล้ภาวะเรือนกระจกสุดร้อนแรงเหมือนเมื่อ 50 ล้านปีก่อน
สภาพภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายลงทุกขณะ โดยผลวิจัยล่าสุดพบว่า มีแนวโน้มที่ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 50 ล้านปีเป็นครั้งแรก ภายในช่วงเวลาอีกไม่กี่ร้อยปีข้างหน้า
สภาพการณ์ดังกล่าวไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน นับแต่ช่วง 10 ล้านปีหลังเหตุการณ์อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงจนไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ และหลายชาติในยุโรป ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร Science โดยระบุว่าได้วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากฟอสซิลของแพลงก์ตอนชนิดหนึ่ง ซึ่งขุดได้จากชั้นดินที่ก้นทะเลลึกหลายแห่ง โดยสัดส่วนระหว่างไอโซโทปของออกซิเจนกับธาตุอื่น ๆ ในเปลือกแข็งของแพลงก์ตอน จะช่วยบอกได้ว่าโลกในอดีตแต่ละยุคสมัยมีอุณหภูมิและปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเป็นอย่างไร
ผลวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ให้เห็นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตลอดช่วงมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) หรือตั้งแต่ 67 ล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน โดยโลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากภาวะเรือนกระจกที่ร้อนแรง (Hothouse) มาสู่สภาพภูมิอากาศอบอุ่น (Warmhouse) และหนาวเย็น (Coldhouse) จนมาสู่ยุคน้ำแข็ง (Icehouse) ในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แต่ล่าสุดโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะ Hothouse อีกครั้ง หลังเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากฝีมือมนุษย์
ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 67 ล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคต
ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 67 ล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคต
ข้อมูลจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ได้ว่า ในปี 2300 โลกอาจมีอุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยสูงกว่าในยุคปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งก็คือสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่คิดจากข้อมูลปี 1960-1991 ถึง 16 องศาเซลเซียส นับว่าไม่ต่างจากสภาพการณ์แบบ Hothouse เมื่อราว 50 ล้านปีก่อน ซึ่งเกิดจากการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาลเช่นกัน
ศาสตราจารย์เจมส์ ซาคอส หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ (UCSC) ของสหรัฐฯ บอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์นั้น สามารถจะส่งผลกระทบได้อย่างรุนแรงและรวดเร็วยิ่งกว่าสภาพการณ์ที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ได้เคยคาดการณ์เอาไว้มาก
"น่าห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนในอดีตซึ่งใช้เวลาหลายล้านปี แต่จะเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า" ศ. ซาคอสกล่าว