DNAมนุษย์ในหมากฝรั่งหกพันปี เผยใบหน้า-ผิวพรรณสาวยุคหินตาสีฟ้า

👩ศิลปินสร้างภาพเหมือนของ "โลลา" สาวยุคหินขึ้นใหม่ ตามข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้จากหมากฝรั่งโบราณที่เธอเคี้ยว
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก เผยโฉมหน้าของหญิงสาวยุคโบราณผู้หนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคหินใหม่ของภูมิภาคสแกนดิเนเวียเมื่อหลายพันปีก่อน 
โดยนักวิทยาศาสตร์ทราบถึงโครงสร้างใบหน้า ผิวพรรณ สีตา และสีผมของเธอได้ 
จากร่องรอยของดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในเศษหมากฝรั่งที่เธอเคี้ยว ซึ่งมีอายุเก่าแก่เกือบหกพันปีดร. เฮนส์ ชรูเดอร์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการสกัดเอาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณและถอดรหัสพันธุกรรมได้อย่างสมบูรณ์ 
โดยไม่ต้องใช้สารพันธุกรรมที่มาจากชิ้นส่วนกระดูก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้หญิงสาวยุคหินใหม่ผู้นี้ว่า "โลลา" เธอมีผิวคล้ำ ผมสีน้ำตาลเข้ม และมีดวงตาสีฟ้า
ข้อมูลพันธุกรรมของโลลาบ่งชี้ว่า เธอมีเชื้อสายใกล้เคียงกับกลุ่มคนโบราณที่ล่าสัตว์และเก็บของป่าเลี้ยงชีวิตบนแผ่นดินใหญ่ของยุโรป มากกว่าพวกที่อยู่ทางตอนกลางของสแกนดิเนเวียในยุคนั้น 
โดยบรรพบุรุษของเธออาจอพยพขึ้นเหนือมาจากทางตะวันตกของยุโรป หลังธารน้ำแข็งที่ปกคลุมแผ่นดินหดหายไป
ส่วน "หมากฝรั่ง" ที่โลลาเคี้ยวและทิ้งร่องรอยดีเอ็นเอของเธอเอาไว้นั้น ที่จริงคือน้ำมันดินที่ได้จากต้นเบิร์ช (Birch pitch)

โดยเศษหมากฝรั่งโบราณอายุ 5,700 ปีนี้ ถูกพบที่เมือง Syltholm บนเกาะ Lolland ทางตอนใต้ของเดนมาร์ก

รอยฟันที่ประทับอยู่ แสดงว่ามีการขบเคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการเคี้ยวเพื่อให้อ่อนตัวลงและนำไปใช้งาน เช่นใช้ติดประกอบเครื่องไม้เครื่องมือยุคหินต่าง ๆ หรืออาจจะเคี้ยวเพื่อเป็นยารักษาโรคหรือแก้ปวดฟัน
เศษชิ้นส่วนของหมากฝรั่งโบราณ อายุเก่าแก่ 5,700 ปี ซึ่งได้จากทางตอนใต้ขอเดนมาร์ก

ข้อมูลพันธุกรรมอื่น ๆ ที่ได้จากเศษหมากฝรั่งนี้ ยังชี้ถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคหินใหม่บนเกาะ Lolland ซึ่งอยู่ในทะเลบอลติกอีกด้วย โดยพบว่ามีดีเอ็นเอของเป็ดมัลลาร์ด (Mallard duck) หรือเป็ดหัวเขียว รวมทั้งดีเอ็นเอของลูกเฮเซลนัทปะปนอยู่ด้วย แสดงถึงชนิดอาหารที่รับประทานกันส่วนหนึ่งในยุคนั้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบร่องรอยดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ที่ก่อโรคปอดอักเสบและไข้ต่อมน้ำเหลืองโต (Glandular fever) ในชิ้นส่วนหมากฝรั่งดังกล่าว รวมทั้งพบดีเอ็นเอของไวรัสและแบคทีเรียที่อาศัยในช่องปากโดยไม่ทำให้เกิดโรคด้วย
ทั้งนี้ ยุคหินใหม่ซึ่งอยู่ในช่วง 10,000 - 4,500 ปีก่อนคริสตกาล 

เป็นสมัยที่เริ่มมีการบุกเบิกเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในทางตอนใต้ของภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ควบคู่ไปกับการเสาะหาและใช้ทรัพยากรจากป่าตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
"การศึกษาเรื่องราวของยุคโบราณบางช่วง โดยที่ไม่มีซากฟอสซิลกระดูกมนุษย์จากยุคนั้นหลงเหลืออยู่ อาจจะทำได้โดยอาศัยแหล่งเก็บสะสม ดีเอ็นเอ
อื่น ๆ เช่นในเศษหมากฝรั่งนี้ ซึ่งสามารถจะให้ข้อมูลพันธุกรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น รวมทั้งทราบถึงวิวัฒนาการของจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อีกด้วย "
ดร. ชรูเดอร์กล่าว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

เรื่องเล่าจากหอยดึกดำบรรพ์และหอยโบราณในประเทศไทย

ทุบสถิติทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้นานที่สุดในโลก 27 ปี