มีริต พทาห์แพทย์หญิงคนแรกของโลกจากอียิปต์ยุคโบราณ อาจไม่มีตัวตนจริง
บุตรชายของมีริต พทาห์ วาดภาพพ่อและแม่ไว้ในสุสาน
ของตนเอง โดยระบุว่าแม่ของเขาเป็น "หัวหน้าแพทย์หญิง"
👰ตำนานของ "มีริต พทาห์" (Merit Ptah) สตรีชาวอียิปต์โบราณที่เชื่อกันว่าเป็นแพทย์หญิงคนแรกของโลก และเป็นผู้บุกเบิกนำทางให้ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่แวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อราว 5,000 ปีก่อน อาจไม่ใช่เรื่องราวที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์
แม้มีริต พทาห์ จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยปรากฏตัวในสารคดีอารยธรรมโบราณบ่อยครั้ง ไปจนถึงมีบทบาทสำคัญในเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จนชื่อของเธอถูกนำไปตั้งเป็นชื่อแอ่งหลุมแห่งหนึ่งบนดาวศุกร์ แต่ตัวตนของมีริต พทาห์ ก็อาจเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง จากความสับสนของผู้เขียนตำราประวัติศาสตร์บางคน
👮ดร. ยาคุบ เฟียซินสกี นักประวัติศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดของเขาลงในวารสาร Journal of the History of Medicine and Allied Sciences โดยระบุว่าไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่า "มีริต พทาห์" มีตัวตนอยู่จริง
👉ชื่อของมีริต พทาห์ ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เป็นที่รักแห่งเทพเจ้าพทาห์" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือที่เขียนโดยเคต
แคมป์เบลล์ เฮิร์ด-มีด แพทย์หญิงชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวในขบวนการสตรีนิยม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1938 โดยหนังสือเล่มนี้ระบุว่า
มีริต พทาห์ มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ที่ 5 แห่งยุคอาณาจักรเก่าของอียิปต์ เมื่อราว 2,730 ปีก่อนคริสตกาล
หนังสือของพญ.เฮิร์ด-มีด ยังระบุว่า เราทราบถึงเรื่องราวของแพทย์หญิงคนแรกของโลกได้ จากการขุดค้นสุสานบุตรชายของเธอซึ่งเป็นนักบวชชั้นสูงและถูกฝังอยู่ในบริเวณหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings ) โดยในสุสานมีภาพวาดและจารึกที่ระบุว่ามารดาของนักบวชผู้นี้เป็น "หัวหน้าแพทย์หญิง"
👉อย่างไรก็ตาม ข้อความส่วนดังกล่าวในหนังสือของ พญ.เฮิร์ด-มีด ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะสุสานในหุบเขากษัตริย์นั้นเพิ่งจะสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ใหม่ หลังสมัยที่มีริต พทาห์ ยังมีชีวิตอยู่กว่าพันปี และแม้ชื่อของแพทย์หญิงยุคโบราณคนนี้จะเป็นชื่อสตรีที่ใช้กันทั่วไปในยุคราชวงศ์เก่าของอียิปต์
แต่ก็ไม่มีชื่อของเธอปรากฏในบันทึกรายชื่อแพทย์ร่วมสมัยที่ใดเลย แม้แต่ในบันทึกที่เป็นเหมือนกับตำนานปรัมปราก็ตาม
"มีความเป็นไปได้ว่า เฮิร์ด-มีดจำเรื่องราวของมีริต พทาห์ โดยสับสนปนเปกับบุคคลอีกผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือเพเซเช็ต (Peseshet) ผู้ควบคุมบรรดาหมอหญิงที่อยู่ในยุคราชวงศ์เก่าเช่นกัน" ดร. เฟียซินสกีกล่าว
👨"นักโบราณคดีทราบเรื่องราวของ เพเซเช็ต จากการขุดค้นสุสานของอักเคเทเท็ป (Akhethetep) ข้าราชสำนักซึ่งเป็นบุตรชายของเธอ ในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยสุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าซักคารา บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ใกล้มหาพีระมิดแห่งกีซา"
สุสานซึ่งเป็นที่มาของตำนานแพทย์หญิงคนแรกของโลก
ถูกค้นพบใกล้กับ
มหาพีระมิดแห่งกีซา
🏰"ประตูหลอกในสุสานของอักเคเทเท็ปมีภาพวาดพ่อและแม่อยู่ และมีจารึกระบุว่าเพเซเช็ตแม่ของเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมเหล่าแพทย์หญิง ซึ่งเหมือนกับข้อมูลของมีริต พทาห์ ที่เขียนไว้ในตำราของ พญ. เฮิร์ด-มีด ไม่ผิดเพี้ยน"
"แม้จะดูเหมือนว่า แพทย์หญิงชื่อมีริต พทาห์ จะไม่มีตัวตนอยู่จริงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า มีผู้หญิงทำงานสำคัญในวงการแพทย์มาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณลบเลือนไป
🗽มีริต พทาห์คือสัญลักษณ์ของความพยายามที่จะจารึกบทบาทของผู้หญิงลงในหน้าประวัติศาสตร์ เธอคือวีรสตรีที่แท้จริงในการต่อสู้ตาแนวทางสตรีนิยมยุคปัจจุบัน"
ดร. เฟียซินสกีกล่าวทิ้งท้าย