เป็นไปได้ไหมที่จะคืนชีพ ช้างแมมมอธ สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปเมื่อ 10000 ปีที่แล้ว

จะเป็นไปได้ไหมที่จะคืนชีพ ช้างแมมมอธ สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปเมื่อ 10000 ปีที่แล้ว
ความเป็นไปได้ในโครงการคืนชีพ ช้างแมมมอธ ขนยาว สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปเมื่อ 10000 ปีที่แล้ว ของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ขอเวลา 2-3  ปีในการคืนชีพเจ้าสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้ขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง
ภาพจากจินตนาการ ช้างแมมมอธ
ข่าวความพยายามที่จะคืนชีพแมมมอธขนยาว สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10000 ปีที่ผ่านมา โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำโดยศาสตราจารย์ จอร์จ เชิร์ช ผู้นำโครงการ ได้สร้างความฮือฮาจากการที่ได้ประกาศว่า จะคืนชีพแมมมอธให้ได้ภายในเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาและมีความเป็นไปได้น้อยมาก จนนักบรรพชีวินวิทยา จอห์น ฮอว์กส์ ถึงกับออกมาโต้ถึงเรื่องนี้ว่าเป็นข่าวที่ถูกกุขึ้นมาอย่างแน่นอน

แต่จากการตรวจสอบรายละเอียดของโครงการคืนชีพแมมมอธพบว่า ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ เพียงแต่จะต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีกซักเล็กน้อย และผลที่ได้อาจไม่ใช่แมมมอธขนยาวๆตัวเป็น ๆ วิ่งเล่นในทุ่งหญ้าไซบีเรียอย่างแน่นอน แต่อาจเป็น้พียงเซลล์ตัวอ่อนของ “ลูกครึ่งแมมมอธ” เพียงเซลล์เดียวเท่านั้น

ช้างแมมมอธ ขนยาวนั้นไม่ใช่สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปชนิดแรกที่นักวิทยาศาสตร์พยายามคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง แพะภูเขา Pyrenean ibex ในห้องทดลองที่สเปนได้เพาะสัตว์ชนิดนี้ขึ้นมาใหม่สำเร็จ เมื่อปี 2003 และมันมีชีวิตอยู่หลังลืมตาดูโลกได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นก็ตาม

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีที่จะพื้นคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ได้ล้ำหน้าไปจากเทคนิคของเมื่อหลายสิบกว่าปีก่อนมาก แต่ก็ยังต้องใช้หลักการโดยทั่วไปแบบเดิม คือขั้นแรกต้องสร้างเซลล์แรกของแมมมอธขึ้นมาให้ได้เสียก่อน แล้วจากนั้นจึงกระตุ้นให้กลายเป็นตัวอ่อน และเพาะเลี้ยงต่อไปจนตัวอ่อนกลายเป็นแมมมอธทั้งตัว ซึ่งตัวศาสตราจารย์เชิร์ช เองเชื่อว่าจะสามารถสร้างเซลล์แรกและตัวอ่อนของช้างแมมมอธได้ภายใน2-3ปีข้างหน้านี้เท่านั้น
เซลล์จากชิ้นเนื้อตัวอย่าง

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เชิร์ชและทีมสามารถสกัดยีนส์พันธุกรรม ของแมมมอธขนยาวใส่เข้าไปในพันธุกรรมของช้างเอเชีย ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับแมมมอธที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้ 45 ตำแหน่งแล้ว ซึ่งยีนเหล่านี้จะทำให้ได้ลูกช้างนั้นมีขนที่ยาวและหนา มีไขมันสะสมจำนวนมาก รวมทั้งมีฮีโมโกลบินในเลือดชนิดพิเศษที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในอุณหภูมิหนาวเย็นได้ดีเหมือนช้างแมมมอธในยุคน้ำแข็งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ช้างเอเชียในปัจจุบันยังคงมียีนที่แตกต่างจากแมมมอธขนยาวอีกกว่า 1,600 ตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้ลูกช้าง ที่เกิดจากการคืนชีพเซลล์ของแมมมอธในครั้งนี้ จะไม่ใช่แมมมอธ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเพียงลูกครึ่งที่มียีนส์ของช้างเอเชียอยู่ส่วนใหญ่ ซึ่งศาสตราจารย์เชิร์ชต้องการที่จะให้เรียกมันว่า “แมมโมแฟนต์” (Mammophant) หรือ “เอเลมอธ” (Elemoth) มากกว่า ถึงแม้รูปร่างลักษณะภายนอกของมันจะมีความคล้ายกับช้างแมมมอธขนยาวมากก็ตาม



แม้จะสามารถสกัดและสร้างเซลล์แรกของแมมมอธขึ้นมาได้ แต่ก็ยังจะต้องผ่านวิธีการที่สำคัญและยากมากคือการทำให้เซลล์กลายเป็นตัวอ่อน โดยต้องนำดีเอ็นเอที่ได้ของลูกครึ่งแมมมอธนี้ ไปใส่ในเซลล์ไข่ที่ยังไม่มีการผสมของช้างเอเชีย ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการโคลนนิ่งนั่นเอง แต่เทคนิคนี้ก็ยังเป็นปัญหาสำหรับเหล่า
นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะพวกเขายังขาดความเข้าใจในรายละเอียดของกระบวนการโคลนนิ่ง ทำให้ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะใช้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่โตอย่างช้างได้หรือไม่ ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีการทดลองโคลนนิ่งช้างเอเชียเสียก่อน โดยการเก็บไข่จากช้างตัวหนึ่ง และนำตัวอ่อนไปไว้ในครรภ์ของแม่ช้างอีกตัวหนึ่ง วิธีนี้อาจจะยากและอันตรายกับช้างอย่างมากและปัจจุบันช้างเป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เชิร์ชและทีมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะสามารถคืนชีพช้างแมมมอธขนยาวได้สำเร็จ โดยจะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของช้างในปัจจุบัน โดยอาจจะต้องใช้เทคนิคการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์จากผิวหนังของช้างเอเชีย แล้วนำไปกระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์ไข่อีกครั้ง ส่วนการเพาะตัวอ่อนสามารถใช้ “ครรภ์ประดิษฐ์” หรือมดลูกเทียมที่สร้างขึ้นมาโดยไม่ต้องให้แม่ช้างอุ้มท้องก็ได้ โดยปัจจุบันห้องทดลองของทีมได้มีการพัฒนาครรภ์ประดิษฐ์นี้ จนสามารถเพาะตัวอ่อนของหนูให้เติบโตได้นานเป็นเวลา 10 วันมาแล้ว

แต่หลายฝ่ายยังเก็นพ้องกันว่า การพัฒนาครรภ์ประดิษฐ์เพื่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของช้างแมมมอธให้เติบโตนั้นเป็นเรื่องหินเอาการ เพราะลูกช้างมีขนาดที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากเท่าตู้เย็น ทั้งสารอาหารที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์นั้นก็จะต้องแตกต่างกันออกไปในสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องมาอก้กันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีคำถามต่ออีกว่าควรจะคืนชีพให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปดีแล้วหรือ เพราะสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยที่เคยใช้ชีวิตของพวกมันได้สูญสิ้นไปแล้ว ซึ่งจะทำให้พวกมันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน และที่สำคัญเหตุผลของการสูญพันธุ์ของพวกมันนั้นยังอาจคงอยู่ ยังมีเหตุผลอีกอย่างคือ สัตว์ที่ได้คืนชีพขึ้นมาอาจเป็นตัวทำลายสมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อคนและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มิจฉาชีพชายที่สวมรอยเป็นหมอในโรงพยาบาลจนกลายเป็นดาว TikTok

ประวัติความเป็นมาของเครื่องล้างจาน ที่มีมากว่า 125 ปี

ภัยพิบัติแห่งสนามบิน Tenerife สายการบิน: KLM Royal Dutch Airlines และ Pan American World Airways